วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน / กระบวนการเรียนรู้แบบบันได 5 ขั้น (5 STEPs)

 พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง)

1. ความหมายของกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน (5 STEPs)

ปิ่นนรา  บัวอิ่น  (2556) กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้แบบบันได 5 ขั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนตามหลักการการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีลักษณะเป็นการจัดการเรียนรู้ตามบริบทและธรรมชาติของวิชา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามที่คาดหวัง ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ การตั้งประเด็นคำถาม/สมมติฐาน การสืบค้นความรู้จากแหล่งเรียนรู้และสารสนเทศ การสรุปองค์ความรู้ การสื่อสารและการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ และการบริการสังคมและจิตสาธารณะ

                   ประยุทธ  ไทยธานี (2556) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบบันได ขั้น (Big Five Leaning)  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่อาศัย ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องเฉพาะตัว การตีความหมายของความรู้เป็นไปตามประสบการณ์เดิม ความเชื่อ ความสนใจ ภูมิหลัง ฯลฯ การสร้างความรู้เป็นกระบวนการทั้งทางปัญญาและสังคม และอีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism) ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่เกิดจากการสร้างพลังความรู้ในตนเองและด้วยตนเองของผู้เรียนหากผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างความคิด และนำความคิดของตนไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้ความคิดนั้นออกเป็นรูปธรรมชัดเจน เมื่อผู้เรียนสามารถสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ก็หมายถึงการสร้างความรู้ขึ้นในตนเองนั่นเอง

                   พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์  ยินดีสุข (2558) กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน (5 STEPs) หมายถึง กระบวนการ หรือแนวทางในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยใช้ 5 ขั้นตอนที่เน้นวิธีการสืบสอบหรือวิธีสอนแบบโครงงานประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ (1)  การเรียนรู้ตั้งคำถาม หรือขั้นตั้งคำถาม (Learning to Question)  (2)  การเรียนรู้แสวงหาสารสนเทศ (Learning to Search) (3)  การเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้ (Learning to Construct) (4)  การเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร (Learning to Communicate) และ (5) การเรียนรู้เพื่อตอบแทนสังคม (Learning to Service) 

                   จาการศึกษาความหมายของกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ( 5 STEPs) ทำให้คณะผู้วิจัยมีความเข้าใจว่า เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบนี้ มีความเหมือนกันกับการจัดการเรียนรู้แบบบันได ขั้น กล่าวคือเป็นกระบวนการ หรือ วิธีการที่เน้นทำให้ผู้เรียนเกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองจากการถูกกระตุ้นด้วยคำถามจากผู้สอนแล้วเกิดข้อสงสัย จึงต้องพยายามแสวงหาข้อมูลความรู้ที่หลากหลายมาสร้างเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเอง หรือร่วมกันในกลุ่ม แล้วถึงนำเสนอองค์ความรู้นั้นต่อส่วนรวมก่อนที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปตอบแทนสังคมหรือนำไปสร้างประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

2. ลักษณะสำคัญของแนวคิดการจัดการเรียนรู้

ประยุทธ ไทยธานี (2556) กล่าวถึงแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบบันได ขั้น (Big Five Leaning) มีลักษณะสำคัญดังนี้

1)  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered Approach) ซึ่งยึด

หลักการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism) และมุ่งการพัฒนาความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นของผู้เรียน ในด้านภาษา (Literacy)  ด้านคำนวณ (Numeracy)  และด้านเหตุผล (Reasoning  ability)  ซึ่งสอดคลองกับนโยบายและเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) โดยอาศัยทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ทฤษฎี คือ (1)  ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง และ (2) ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน

2) มีการพัฒนาความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นของผู้เรียน 3 ด้าน คือด้านภาษา ด้านคำนวณ และด้านเหตุผล ตามแนวคิดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  (สพฐ.) ที่ได้กำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในด้านความสามารถพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้สอดคลองกับนโยบายและเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง  (พ.ศ. 2552-2561) คือความสามารถด้านภาษา  ด้านคำนวณ และด้านเหตุผล

ความสามารถด้านภาษา หมายถึง ความสามารถในการอ่าน เพื่อรู้ เข้าใจ วิเคราะห์  สรุป สาระสำคัญ ประเมินสิ่งที่อ่านจากสื่อประเภทต่างๆ  รู้จักเลือกอ่านตามวัตถุประสงค์ นำไปใช้ใน ชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกันในสังคม   ใช้การอ่านเพื่อการศึกษาตลอดชีวิต และสื่อสารเป็นภาษาเขียนได้ถูกต้องตามหลักการใช้ภาษา และอย่างสร้างสรรค์

ความสามารถด้านคำนวณ หมายถึง ความสามารถในการใช้ทักษะการคิดคำนวณความคิดรวบยอด และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน

ความสามารถด้านเหตุผล หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์มาวิเคราะห์ สงเคราะห์ ประเมินคา ข้อมูล/สถานการณ์/สารสนเทศ เพื่อการตัดสินใจ โดยมีเหตุผลประกอบ

อย่างสมเหตุสมผล  (บนพื้นฐานของข้อมูล หลักการ เหตุผล ทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และการดำเนินชีวิต อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม)

          3) มีการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สำคัญ 5 กิจกรรม (Big Five Learning) ตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ

(1)   การตั้งประเด็นคำถาม/สมมติฐาน (Learning to Question)  

(2)   การสืบค้นความรู้จากแหล่งเรียนรู้และสารสนเทศ (Learning to Search)

(3)   การสรุปองค์ความรู้ (Learning to Construct)

(4)   การสื่อสารและการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ (Learning to Communicate)

(5)   การบริการสังคมและจิตสาธารณะ (Learning to Serve) 

3. ขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน (5 STEPs)

ประยุทธ ไทยธานี (2556) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบบันได ขั้น (Big Five Leaningมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1  ตั้งคำถาม  (Learning to Question)   เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอนจะนำเสนอภาพ สถานการณ์ คลิปวีดีโอ กรณีตัวอย่าง เพื่อให้ผู้เรียนได้รับรู้ถึงปัญหาหรือสถานการณ์ปัญหา เพื่อสร้างความรู้สึกอยากรู้อยากเรียน ทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่า ความสำคัญ รวมถึงประโยชน์ของสิ่งที่จะเรียน

ขั้นที่ 2  แสวงหาสารสนเทศ (Learning to Search) เป็นขั้นตอนที่ให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้หรือข้อมูลจากสื่อ และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการสรุปคำตอบของปัญหาที่ผู้เรียนได้รับ

ขั้นที่ 3 สร้างความรู้ (Learning to Construct) เป็นขั้นตอนที่ให้ผู้เรียนนำข้อค้นพบที่ได้จากการแสวงหาความรู้มาร่วมกันวิเคราะห์ อภิปราย ภายในกลุ่ม และทำการประมวลข้อมูลที่ได้รับเป็นองค์ความรู้ของกลุ่ม และนำองค์ความรู้ที่ได้มาสรุปความคิดรวบยอดเป็นคำตอบของปัญหาที่ผู้เรียนได้รับ อย่างเหมาะสมและเพียงพอ

ขั้นที่  4  สื่อสาร (Learning to Communicate) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนส่งตัวแทนกลุ่มออกมานำเสนอคำตอบของปัญหาที่ได้รับ  และอภิปรายร่วมกันระหว่างกลุ่มถึงคำตอบที่ได้นำเสนอมา โดยใช้วิธีการนำเสนอที่กลุ่มผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเอง พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการเรียนรู้ และแสดงความรู้สึกจากการดำเนินการแสวงหาความรู้ของกลุ่ม

ขั้นที่ 5  ตอบแทนสังคม  (Learning to Serve) เป็นขั้นตอนที่ให้ ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ มาจัดทำเป็นสื่อหรือชิ้นงานตามความถนัด และความสนใจ ของกลุ่ม เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจด้วยวิธีการที่หลากหลาย

พิมพันธ์ เดชะคุปต์ (2558) กล่าวว่า ขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้แบบ กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ( 5 STEPs) ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ 1 การเรียนรู้ตั้งคำถาม หรือขั้นตั้งคำถาม  เป็นที่ให้นักเรียนฝึกสังเกตสถานการณ์ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ จนเกิดความสงสัย จากนั้นฝึกให้เด็กตั้งคำถามสำคัญ รวมทั้งการคาดคะเนคำตอบ ด้วยการสืบค้นความรู้จากแหล่งต่าง ๆ และสรุปคำตอบชั่วคราว 

ขั้นตอนที่ 2 การเรียนรู้แสวงหาสารสนเทศ  เป็นขั้นตอนการออกแบบ/วางแผนเพื่อรวบรวมข้อมูล สารสนเทศ จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ รวมทั้งการทดลองเป็นขั้นที่เด็กใช้หลักการนิรภัย (Deduction reasoning) เพื่อการออกแบบข้อมูล 

ขั้นตอนที่ 3 การเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้  เป็นขั้นตอนที่เด็กมีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การสื่อความหมายข้อมูลด้วยแบบต่าง ๆ หรือด้วยผังกราฟิก การแปรผล จนถึงการสรุปผล หรือการสร้างคำอธิบาย เป็นการสร้างองค์ความรู้ ซึ่งเป็นแก่นความรู้ประเภท

          1. ข้อเท็จจริง

          2. คำนิยาม

          3. มโนทัศน์

          4. หลักการ

          5. กฎ

          6. ทฤษฏี

ขั้นตอนที่ 4 การเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร  คือ ขั้นนำเสนอความรู้ด้วยการมใช้ภาษาที่ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นที่เข้าใจ อาจเป็นการนำเสนอภาษา และนำเสนอด้วยวาจา 

ขั้นตอนที่ 5 การเรียนรู้เพื่อตอบแทนสังคม เป็นขั้นตอนการฝึกเด็กให้นำความรู้ที่เข้าใจ นำการเรียนรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม หรือเห็นต่อประโยชน์ส่วนรวมด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม ร่วมสร้างผลงานที่ได้จากการแก้ปัญหาสังคมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งอาจเป็นความรู้ แนวทางสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรม ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นการแสดงออกของการเกื้อกูล และแบ่งปันให้สังคมมีสันติอย่างยั่งยืน

ซึ่งจากการศึกษาขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ( 5 STEPs) และขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบบันได ขั้น (Big Five Leaning)   ผู้วิจัยได้สรุปขั้นตอนเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ ดังนี้

1.  การเรียนรู้ตั้งคำถาม หรือขั้นตั้งคำถาม (Learning to Question) หมายถึง กระบวนการที่ผู้สอนใช้คำถามเข้าสู่บทเรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด ในการหาคำตอบ กระตุ้นให้ผู้เรียนตอบคำถาม โดยนักเรียนร่วมกันตอบคำถาม ใช้กระบวนการคิด และการให้เหตุผล โดยมีกิจกรรม เช่น  ผู้สอนใช้คำถามเข้าสู่บทเรียน

2.  การเรียนรู้แสวงหาสารสนเทศ (Learning to Search) หมายถึง  กระบวนการที่ผู้สอนแบ่งกลุ่มนักเรียนตามที่ออกแบบการจัดการเรียนรู้ไว้ และให้นักเรียนจับกลุ่ม ศึกษาแสวงหาข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่หลากหลายและถูกต้อง เช่น การให้นักเรียนแบ่งกลุ่มโดยการนับเลข 1-6 จากหน้าห้องไปยังหลังห้อง คนที่นับเลขเดียวกันอยู่กลุ่มเดียวกัน แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 7 คน และให้นักเรียนศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติไทย จากหนังสือแบบเรียน และ Internet หรือระบบสืบค้น

อื่น ๆ

3.  การเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้ (Learning to Construct) หมายถึง  กระบวนการที่ให้นักเรียนอภิปราย และหาข้อสรุปของกลุ่มเพื่อเป็นการสรุปองค์ความรู้ที่ได้จาการค้นคว้า โดยครูอาจเตรียมอุปกรณ์ในการสรุปองค์ความรู้ของนักเรียน เช่น การเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้นักเรียนจัดทำแผนผังความคิดจากข้อมูลที่ได้ศึกษามาแล้ว ซึ่งอาจมีการกำหนดประเด็นเนื้อหาที่ต้องการให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้ด้วย เช่น ในการสร้างองค์ความรู้ เกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติไทย มีการสร้างองค์ความรู้ในประเด็นเหตุผลสนับสนุนแนวคิดจากนักวิชาการ เหตุผลสนับสนุนแนวคิดจากสมาชิกในกลุ่ม และประโยชน์จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติไทย   

4.  การเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร (Learning to Communicate) หมายถึง กระบวนการที่นักเรียนร่วมกันนำเสนอผลงานตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีผู้สอนอำนวยความสะดวกในการนำเสนองานของนักเรียนแต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งเพิ่มเติมมูลแต่ละแนวคิดที่ไม่ชัดเจน

5. การเรียนรู้เพื่อตอบแทนสังคม (Learning to Service) หมายถึง กระบวนการที่ผู้สอนพยายามทำให้นักเรียนตระหนักในการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในสังคม เช่น การให้นักเรียนบอกประโยชน์จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติเพื่อทำให้เขาเห็นแนวทางในการนำความรู้ไปใช้ในสังคมชัดเจนขึ้น และอาจมีการสรุปความรู้ในบทเรียน เช่น การตอบคำถาม หรือข้อสงสัยของผู้เรียน

จากขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่คณะผู้วิจัยได้สรุปไว้ ทำให้ทราบว่าผู้เรียนจะได้รับการส่งเสริมให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ในทุกขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเฉพาะในขั้นที่ การเรียนรู้ตั้งคำถาม หรือขั้นตั้งคำถาม (Learning to Question) ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด ในการหาคำตอบ และในขั้นที่ การเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้ (Learning to Construct) เพื่อใช้ในการอภิปรายและสร้างองค์ความรู้หาข้อสรุป ซึ่งผู้เรียนจำเป็นใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์จากข้อมูลที่หามาได้ โดยทั้งสองขั้นตอนต้องอาศัย ขั้นที่ การเรียนรู้แสวงหาสารสนเทศ (Learning to Search) ขั้นที่ 4  การเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร (Learning to Communicate) และขั้นที่ การเรียนรู้เพื่อตอบแทนสังคม (Learning to Service) จากเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ( 5 STEPs) ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งคณะผู้วิจัยเชื่อว่าจะทำให้กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เอกสารอ้างอิง

ประยุทธ์ ไทยธานี. (2556การพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง Coaching and Mentoring สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31.นครราชสีมา: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา.

ปิ่นนรา บัวอิ่น. (2556). บันได 5 ขั้น (5L) สู่การพัฒนาผู้เรียน. เข้าถึงเมื่อวัที่ 20 พฤษภาคม 2557. จาก http://203.172.238.228/plan/km1/?name=research&file=readresearch&id=34.

พิมพันธ์  เดชะคุปต์และพเยาว์  ยินดีสุข.  (2558).  การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที 21 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 


การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน / กระบวนการเรียนรู้แบบบันได 5 ขั้น (5 STEPs)

  พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง) 1. ความหมายของกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน (5  STEPs) ปิ่นนรา    บัวอิ่น    (2556) กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้แ...